รถไฟญี่ปุ่นมีตู้สำหรับให้ผู้หญิงขึ้นเท่านั้น!

หากเพื่อน ๆ สังเกตกันดี ๆ จะเห็นป้ายสติ๊กเกอร์สีชมพู เขียนว่า Women only (女性専用車) ติดไว้บริเวณกระจกของตู้โดยสารรถไฟ รวมถึงติดไว้ยังบริเวณชานชลายืนรอรถไฟ ซึ่งอาจจะไม่มีทุกสาย แต่สำหรับรถไฟที่ค่อนข้างหนาแน่นอย่างเช่นสาย Saikyo line, Keihin tohoku line, Chiyoda line ฯลฯ มีแน่นอนค่ะ
ซึ่งเจ้าป้ายที่ว่านี้จะเป็นตัวช่วยสำหรับคุณสุภาพสตรี ในการขึ้นรถไฟในช่วงเวลา peak ได้อย่างปลอดภัย เพราะที่ญี่ปุ่นเคยมีกรณีที่สาว ๆ ถูกลวนลาม ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “Chikan” (痴漢) บนรถไฟเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงที่รถไฟแน่นแล้วถ้าต้องขึ้นรถไฟเบียดเสียด กับเหล่าบรรดาซาลาลี่แมนทั้งหลาย สำหรับผู้หญิง ก็อาจจะไม่ค่อยดีนัก ถึงจะไม่ถูกลวนลามแต่ถ้าไปเจอคุณผู้ชายตัวใหญ่ ๆ เบียดบนรถก็อาจจะได้รับบาดเจ็บได้
***** ข้อยกเว้น : สำหรับเด็กผู้ชายที่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาหรืออายุน้อยกว่า , ผู้พิการที่เป็นผู้ชาย, และผู้ชายที่คอยช่วยเหลือหรือมากับผู้พิการ ก็สามารถโดยสารตู้ Women Only ได้เช่นกันค่ะ *****
ดังนั้น สำหรับรถไฟสายที่มีการโดยสารอย่างหนาแน่น ในช่วงเวลาเร่งรีบในวันทำงานระหว่างเวลา 7.30 น. – 9.30 น. ก็มักจะมีตู้โดยสารสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะไว้คอยให้บริการ ซึ่งส่วนตัวเจ้มองว่าปลอดภัยสำหรับการถูกลวนลาม แต่บางทีถ้าชะนีอยู่รวมกันเยอะ ๆ เบียดเสียดกันก็อาจจะมีการเหยียบเท้าแบบไม่ตั้งใจกันบ้าง เซไป เซมาไปโดนกันบ้าง มันก็อาจจะเกิดการส่งสายตาเขม่น ส่งเสียง “จิ๊” ใส่กันได้ แต่ก็นะก็ยังดีกว่าการไปสู้รบกับเหล่าผู้ชายสายพลังเบียดเนอะ มีใครเคยลองใช้บริการกันบ้างแล้วคะ มาแบ่งปันประสบการณ์ให้เจ้ฟังด้วยนะคะ

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม :

ประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีตู้โดยสารรถไฟสำหรับผู้หญิง และเด็กนักเรียนหญิงโดยเฉพาะ ครั้งแรกในปี 1912 สาย Chuo line โดยเรียกตู้โดยสารนี้ว่า  “Flower Train” และถูกยกเลิกบริการไปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะถูกกลับนำมาใช้อีกครั้งหลังจากนั้นในปี 1947 โดยมีรถไฟเพิ่มขึ้นโดยมี Chuo line และ Keihin Tohoku line ที่เพิ่มขึ้นมา และในปี 1973 ได้มีการเพิ่มที่นั่งสำหรับ priority seat ให้กับรถไฟสาย Chuo line ในตู้ที่ 1, 4 และ 10 หลังจากนั้นก็ไม่มีบริการตู้โดยสารสำหรับผู้หญิงและเด็กนักเรียนหญิงอีกต่อไป
จนมาถึงปลายปี 2000 รถไฟสาย Keio Electric Railway ที่วิ่งจากโตเกียวไปยังชานเมือง ก็ได้มีการทดลองเปิดให้บริการตู้โดยสารเฉพาะผู้หญิงในช่วงเวลากลางคืนของวันพฤหัส และ วันศุกร์ เส้นทางออกจากชินจุกุ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารผู้หญิง และหลีกเลี่ยงการเกิดอันตราย และการถูกลวนลามจากผู้โดยสารผู้ชาย ที่เมาเหล้าจากการฤดูกาลกินเลี้ยงสิ้นปี “โบเนงไก” ซึ่งเป็นธรรมเนียมของคนญี่ปุ่น และเริ่มต้นให้บริการจริงจังตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2001 เป็นต้นมา
ในปี 2001 ทางบริษัท JR East ก็ได้เริ่มบริการตู้โดยสารผู้หญิงเป็นครั้งแรกกับรถไฟสาย Saikyo Line ซึ่งเป็นเส้นทางระหว่าง โตเกียว และ ไซตามะ เพราะรถไฟสายนี้วิ่งทางยาว และเกิดกรณีการถูกลวนลามมีมาก ต่อมาในปี 2002 บริษัท JR West รถไฟสาย Midosuji subway line และสาย Hankyu line ก็ได้เริ่มให้บริการตู้โดยสารผู้หญิงที่ Osaka ตามมาด้วยเช่นกัน และในปี 2005 รถไฟส่วนใหญ่ในโตเกียวก็มีบริการตู้โดยสารสำหรับผู้หญิง และอนุญาติให้เด็กผู้ชาย, ผู้พิการชาย และผู้ติดตามผู้พิการที่เป็นผู้ชาย ก็สามารถขึ้นตู้นี้ได้และมีบริการดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

“Chikan” (痴漢) ในภาษาญี่ปุ่นที่มีความหมายว่า “ลวนลาม”

หากถูกลวนลามบนรถไฟเราสามารถตะโกนคำว่า “Chikan!” ดัง ๆ ได้เลยค่ะ ซึ่งถ้าบุคคลผู้นี้ถูกจับเขาอาจจะได้รับโทษตามกฎหมายคือจำคุกหรือจะถูกปรับเป็นจำนวนเงิน 500,000 เยนได้เลยค่ะ ส่วนมากเหยื่อผู้ถูกกระทำจะไม่กล้าตอบโต้ก็ทำให้ผู้กระทำนั้นได้ใจและลงมือซ้ำ ๆ อีก!
โดยตามรถไฟมักจะมีป้ายสติ๊กเกอร์ติดเพื่อเตือนสำหรับผู้ที่คิดการณ์ไม่ดี หากเขาได้อ่านและหวังว่า เขาเหล่านั้นจะยกเลิก การกระทำที่ไม่สมควร และบางครั้งก็จะมีสติ๊กเกอร์ติดเอาไว้ว่า ตู้โดยสารนี้มีกล้องวงจรปิด! (สาย Saikyo line) หากคนที่คิดไม่ดีได้อ่าน ได้คิดก็อาจจะช่วยยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้นได้
แต่ในทางตรงกันข้าม “ผู้ชาย” ก็อาจจะถูกเป็นฝ่ายถูกกระทำได้ด้วยเช่นกันนะคะ จากกรณีภาพยนตร์เรื่อง Sore de mo, Boku wa Yatte Inai! (I did not do that) ที่ออกฉายในปี 2007 มีเค้าโครงเรื่องที่สร้างมาจากเรื่องจริง เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับ ผู้ชาย คนหนึ่งที่ไม่ประสีประสาอะไรเลย แต่ดันถูกเด็กนักเรียนหญิงวางแผนให้เขามาแตะ หรือมาสัมผัสร่างกายแบบไม่ได้ตั้งใจ แต่นักเรียนหญิงคนนั้นกลับหัวหมอ ขู่กรรโชกทรัพย์จากชายผู้ไร้เดียงสาคนนั้น ซึ่งกรณีนี้ก็เคยได้ยินเพื่อนคนญี่ปุ่นเล่าให้ฟังบ่อย ๆ เช่นกัน และบางครั้งเราก็อาจจะเห็นคนเป็นลมบนรถไฟ แต่ไม่มีผู้ชายคนไหนวิ่งเข้าไปช่วยเลย อาจจะนึกว่าทำไมผู้ชายญี่ปุ่นเย็นชาจัง ไม่เข้าไปช่วย ไม่เข้าไปจับ… ซึ่งก็อาจจะมีสาเหตุมาจากกรณีนี้ด้วยก็เป็นไปได้ค่ะ
ที่มา : japanexperiencerail-jwikipedia

ติดตามพวกเราได้ที่

Facebook Youtube Instagram Twitter

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.