สวัสดีครับ วันนี้ “ลุงจี๊ด” จะมาเล่าประสบการณ์ Unseen Japan ที่คิดว่าน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้มาลองแบบผม หลาย ๆ ท่านเวลาที่มาญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็คงจะทำการจองที่พักตามโรงแรมบ้าง หรือ air bnb บ้าง แต่สำหรับบทความนี้ ผมจะพาเพื่อน ๆ ไปเปิดประสบการณ์การนอนที่วัดในญี่ปุ่นกันครับ ซึ่งวัดที่ไปนอนก็ไม่ไก่กานะครับ บรรยากาศก็เหมือนกับโรงแรมดี ๆ นี่เลย ก่อนที่หลาย ๆ คนจะจินตนาการไปต่าง ๆ นา ๆ เอาล่ะครับ ไปลองอ่านบทความที่เป็นประสบการณ์ตรงของผมเองที่มีโอกาสได้มานอนที่วัดถึง 2 ครั้ง 2 ครากันเลยดีกว่า ผมหวังว่าทุกท่านก็คงจะได้ประโยชน์จากบทความนี้กันนะครับ  …

ศาสนาพุทธในประเทศญี่ปุ่น

หลาย ๆ ท่านที่มาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นก็คงต้องเคยไปเที่ยววัดในพุทธศาสนาเช่น วัดนิกายเซน หรือศาลเจ้าชินโต กันมาบ้างแล้วนะครับ พุทธศาสนานั้นเข้ามาสู่ญี่ปุ่นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 จากประเทศจีน ผ่านมาทางประเทศเกาหลีเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตรงกับสมัยอาซุกะ (ปัจจุบันเป็นเมืองในจังหวัดนารา) และขยายสู่เมืองนาราซึ่งเคยเป็นเมืองหลวง และจากนั้นก็มีการสร้างวัดเพื่อเผยแผ่ศาสนาไปทั่วญี่ปุ่น จนถึงสมัยเฮอันซึ่งมีเกียวโตเป็นเมืองหลวง มาสู่สมัยคามาคุระและจนมาถึงสมัยเอโดะที่มีโตเกียวเป็นเมืองหลวงจนถึงปัจจุบันทุกท่านคงสังเกตได้ว่าวัดในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็จะมีอายุหลายร้อยปี ภายในวัดก็จะมีอาคารไม้เก่าๆ มากมายอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบันนี่ล่ะครับ

ส่วนผมเองก็นึกสนุกขึ้นมาว่า ถ้าเราได้ลองไปนอนในวัดที่ญี่ปุ่นดูบ้างมันจะเป็นไปได้หรือเปล่า ผมก็เลยไปค้นข้อมูลดูก็พบว่ามันเป็นเรื่องปกติในญี่ปุ่นครับ ที่ฆราวาสแบบเรา ๆ ก็สามารถไปนอนวัดได้ แต่วัดที่ญี่ปุ่นจะเป็นเหมือนวัดที่ไทยไหมเราตามไปดูกันครับ

Shukubo Temple วัดที่มีบริการให้คนธรรมดาเข้าไปพักแรมได้

หลังจากที่ผมได้หาข้อมูลและผมก็ได้ไปพบกับคำว่า “ชูคูโบะ (Shukubo)” นั่นก็คือ การที่คนธรรมดาจะเข้าไปพักในวัดเพื่อประกอบศาสนกิจ สวดมนต์และพร้อม ๆ กับการชมสถานที่อันงดงาม ในบรรยากาศอันเงียบสงบภายในวัดที่มีอายุเก่าแก่  ซึ่งขณะนี้ในประเทศญี่ปุ่นก็จะมีวัดที่เปิดให้บริการแบบนี้ โดยเฉพาะในเมืองที่มีวัดตั้งอยู่หลายแห่ง เช่น โคยะซัง (Koyasan) ในจังหวัดวาคะยามะ,  จังหวัดทตโทริ และจังหวัดบนเกาะชิโคคุ ที่ชาวญี่ปุ่นจะเดินทางแสวงบุญให้ครบ 88 วัด หรือที่เรียกว่าชิโคคุ เฮนโระ (Shikoku Henro,四国遍路)

ซึ่งแต่ละวัดที่มีการรับฆราวาสเข้าพักก็จะมีกิจกรรมที่อนุญาตให้แขกผู้มาพักสามารถเข้าร่วมได้เช่น การสวดมนต์ช่วงเช้า การฝึกคัดพระไตรปิฎกเป็นอักษรคันจิโดยการใช้พู่กันและหมึกจีน ที่จะหาโอกาสเปิดประสบการณ์ลองกิจกรรมแบบนี้ได้ค่อนข้างยาก  ซึ่งผมก็ได้มีโอกาสไปนอนวัด 2 ครั้ง คือที่วัดคันโชอิน ซันราคุโซะ (Kansho-in Sanrakuso, 宿坊 観證院 山楽荘 ) ที่เมืองไดเซน จังหวัดทตโทริ และวัดเฮนโจซอนอิน (Henjoson-in ,遍照尊院) บนภูเขาโคยะ จังหวัดวาคะยามะ ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ สำหรับตัวผมเองเลยล่ะครับ ลองอ่านกันได้จากด้านล่างนี้เลย

 

1. วัดคันโชอิน ซันราคุโซะ (Kansho-in Sanrakuso, 宿坊 観證院 山楽荘 )

วัดนี้ตั้งอยู่ใกล้กับวัดไดเซนจิและภูเขาไดเซน จังหวัดทตโทริ เนื่องจากวัดไดเซนจิไม่มีการรับฆราวาสให้นอนในวัด   ผมจะปีนเขาไดเซนจึงจองห้องพักที่วัดแห่งนี้ ภูเขาไดเซนมีความสูงประมาณ 1,900 เมตร แต่ในวันนั้นเดินไม่ถึงยอดเขา ไปได้แค่ 1,800 เมตรเพราะมีฝนตกลมแรง มีหมอกลงจัด เลยไม่มีภาพวิวสวย ๆ จากยอดเขาไดเซนมาให้ชม ชมภาพบรรยากาศป่าที่เขียวชะอุ่มและหมอกลงไปพราง  ๆ ก่อนนะครับ

ป่าบนเขาไดเซน
ป่านบนเขาไดเซน เขียวชะอุ่มมาก ๆ
ป่าบนเขาไดเซน หมอกลงเยอะมาก

วันที่ผมไปพักที่วัดแห่งนี้นั้นผมเป็นแขกคนเดียวของวัด   วัดเงียบมากและกลางคืนมืดสนิท มีแต่เสียงฝนและลมพัดแรงกระแทกกระจกเป็นระยะๆ   คนที่คอยอำนวยความสะดวกให้ผมระหว่างพักที่นี่ก็คือ พระและภรรยาของพระ ใช่ครับ ! พระญี่ปุ่นมีภรรยาได้ครับ ไม่ต้องโกนคิ้ว   ทั้ง 2 ท่านให้การบริการและคอยอำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดี

ห้องคัดพระไตรปิฏก

 

ห้องพระ

อาหารที่จัดให้ในวัดก็เป็นอาหารเจทั้งหมด ผักต่างๆ พระท่านบอกว่าเป็นผักที่เก็บมาจากป่ารอบ ๆ ทำเป็นผักดอง และเทมปุระ ซุปในหม้อนาเบะก็ทำจากเต้าหู้ในท้องถิ่น   เห็นการจัดเตรียมอาหารสำหรับแขกที่มีเพียงคนเดียวแล้ว ก็ยังคงมีความละเอียดอ่อนพิถีพิถันมาก

ห้องอาหาร วิวธรรมชาติมาก

 

อาหารที่วางอยู่บนโต๊ะทั้งหมดคือ อาหารเจ! จัดเรียงสวยงามตามสไตล์ญี่ปุ่น

 

ผักที่เก็บจากภูเขารอบๆ นี้นำมาทำเป็นเทมปุระ

 

ที่พักแห่งนี้เจ้าชายนารุฮิโตะมกุฏราชกุมารของญี่ปุ่นก็เคยเมื่อเยือนเมื่อหลายสิบปีก่อนด้วยเช่นกันครับ

เจ้าชายนารุฮิโตะมกุฏราชกุมารญี่ปุ่นเคยมาเยือน

 

เว็บไซต์ : Sanrakuso

พิกัดจาก ​Google map:

 

การเดินทางไปภูเขาไดเซน วัดไดเซนจิและวัดซันราคุโซะ

ใช้บริการรถไฟ JR ลงที่สถานีโยนาโกะ (Yonago) หรือสถานีไดเซนกุชิ (Daisenguchi) จากนั้นนั่งรถบัสไปภูเขาไดเซน ใช้เวลาประมาณ 40-50 นาที   ผมเลือกลงที่สถานีโยนาโกะ และไปรอขึ้นรถบัสที่ชานชลาหมายเลข 4 บริเวณหน้าสถานีรถไฟ

สถานีรถไฟโยนาโกะ
ป้ายรถบัสหมายเลข 4

การจองที่พักรอบภูเขาไดเซน

สามารถจองผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ได้ นอกจากวัดคันโชอิน ซันราคุโซะ  ก็ยังมีโรมแรมเล็กๆ บริเวณรอบ ๆ อีกหลายแห่งเลยครับ หรือลองดูที่เว็บไซต์นี้ก็ได้ Terahaku

 

ฤดูที่แนะนำ

ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้เปลี่ยนสี   ไม่ควรไปช่วงฤดูร้อน หรือปลายฤดูไม้ไม้ผลิ เพราะจะมีฝนตก ผมเดินทางไปปลายเดือน พฤษภาคม เป็นช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิจึงมีฝนตกครับ

 

2.วัดเฮนโจซอนอิน (Henjoson-in ,遍照尊院)

วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนภูเขาโคยะ จังหวัดวาคะยะมะ   หลายท่านคงจะรู้จักภูเขาโคยะว่ามีวัดตั้งบนภูเขานี้หลายร้อยวัด ภูเขาแห่งนี้มีพุทธศาสนานิกายชินงอน ซึ่งท่านคูไคหรือโคโบะ ไดชิ ท่านเป็นพระนักปฏิบัติที่เป็นผู้สร้างนิกายนี้และบุกเบิกสร้างวัดบนภูเขาโคยะตั้งแต่สมัยเฮอัน   เวลามาเที่ยวภูเขาโคยะ ก็มักจะเห็นรูปของท่าน ที่มือขวาถือวชิรา และมือซ้ายถือลูกประคำ

ท่านคูไคหรือโคโบะ ไดชิ

ภายในวัดแห่งนี้จะจัดแบ่งบริเวณที่ให้นักท่องเที่ยวพัก ห้องพักเป็นห้องพักแบบเรียวกัง มีสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องพักครบ   มีทั้งห้องน้ำในตัวและห้องแช่ออนเซนรวมก็เลือกเอาตามชอบ      วัดแห่งนี้มีขนาดใหญ่มีความแตกต่างจากวัดแรกที่ผมไปพักมาก   อาหารที่ให้บริการก็จะเป็นอาหารเจเช่นเดียวกันรวมทั้งมีสาเกให้แขกสั่งดื่มได้ ผู้ที่คอยให้บริการอำนวยความสะดวกก็คือ พระในวัดนั่นเองครับ

บรรยากาศ สวนสไตล์ญี่ปุ่นบริเวณรอบ ๆ วัด

การพักที่วัดเฮนโจซอนอิน ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมพิธีสวดมนต์ช่วงเช้าเวลา 06.00 น. แขกหลายคนตื่นมาแต่เช้าเพื่อเข้าร่วมพิธีนี้  ส่วนใหญ่เป็นคุณลุง คุณป้า   ผมน่าจะเป็นแขกที่อายุน้อยที่สุดในวันนั้นที่เข้าร่วมพิธี เนื่องจากทางวัดห้ามถ่ายรูปขณะประกอบพิธีเลยไม่มีรูปมาฝากชมภาพห้องสวดมนต์ไปกันก่อนนะครับ

ภาพด้านนอก หอประกอบพิธีสวดมนต์

 

ห้องประกอบพิธีสวดมนต์
ห้องประกอบพิธีสวดมนต์

ระหว่างทำพิธีพระก็จะสวดมนต์เป็นทำนองคล้ายพระสงฆ์บ้านเรา แต่เป็นภาษาญี่ปุ่นโบราณ หรือภาษาสันสกฤต อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจครับ (ถ้ามีใครทราบแวะมากระซิบผมด้วยนะครับ ) และจะมีการจุดไฟในกระถาง เผาไม้ ประกอบพิธีนานนับชั่วโมง

หลังจากนั้นก็จะให้แขกทุกคนไปรับพรจากพระ พระท่านก็จะใช้วชิราแตะที่ศีรษะของผู้เข้าร่วมพิธีทุกคนและอนุญาตให้ลงไปห้องเก็บพระไตรปิฎก และพระพุทธรูปใต้ดินซึ่งบอกได้เลยว่าในห้องนั้นสวยงามมาก มีพระพุทธรูปทองคำเหลืองอร่ามซึ่งห้ามถ่ายรูปเช่นกัน   ผมก็ได้แต่เก็บภาพไว้ในความทรงจำเท่านั้นครับ

บนภูเขาโคยะนี้มีวัดที่มีชูคูโบะหลายวัด   แต่ละวัดอาจจะมีพิธีที่ให้แขกเข้าร่วมแตกต่างจากวัดที่ผมพักนะครับ ส่วนวัดในนิกายเซนอาจจะมีการฝึกที่เข้มงวด นั่งสมาธิ ซึ่งผมกำลังหาช่องทางไปวัดแบบนิกายเซนดูบ้างถ้ามีโอกาสได้ไปจริง ๆ ผมจะมาเล่าให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันอีกแน่นอนครับ

 

การติดต่อจองห้องพัก

สำหรับท่านที่สนใจสามารถจองผ่าน เว็บไซต์ ซึ่งเป็นแหล่งให้ข้อมูลการท่องเที่ยวภูเขาโคยะรวมทั้งสามารถจองการพักในวัดบนภูเขาแห่งนี้ได้

เว็บไซต์ของวัด (ภาษาญี่ปุ่น) : Henjoson

พิกัดจาก Google map:

การเดินทางไปภูเขาโคยะ

สามารถเดินทางโดยนั่งรถไฟจากเมืองโอซาก้าของบริษัทนันไก จากสถานีนัมบะ (Namba) หรือชินอิมามิยะ (Shin Imamiya) ไปยังสถานีโกคุราคุบาชิ (Gokurakubashi) แล้วต่อเคเบิ้ลคาร์เพื่อขึ้นไปภูเขาโคยะและจากนั้นก็นั่งรถประจำทางไปเที่ยววัดต่างๆ ได้   การเดินทางเส้นทางนี้ไม่สามารถใช้ JR rail pass ได้ครับแต่สามารถซื้อตั๋วพิเศษแบบต่างๆ ได้ที่สถานีนันไก สถานีชินอิมามิยะ ตั๋วนี้รวมทั้งค่ารถไฟ เคเบิ้ลคาร์ ค่ารถยนต์โดยสารบนภูเขาโคยะ ตั๋วบางประเภทอาจรวมค่าเข้าชมสถานที่สำคัญบนภูเขาโคยะด้วย

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่   มีข้อมูลทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษครับ

 

ฤดูที่แนะนำ

สำหรับภูเขาโคยะ สามารถเดินทางไปได้ทุกฤดูครับ   แต่ช่วงฤดูหนาวจะหิมะตก อากาศหนาวจัด และถ้าใครสามารถมาช่วงปีใหม่ได้   จะมีพิธีสวดมนต์ในคืนวันที่ 31 ธันวาคมที่วัดต่างๆ แต่วัดที่คนจะไปมากคือวัด Danjo Garan (壇上伽藍) ซึ่งจะมีเจดีย์ขนาดใหญ่ชื่อ Konpon daito

เจดีย์ Konpon daito
มุมค่ำคืนก็งดงามเช่นกัน

 

เรื่องโดย  ลุงจี๊ด

 

ติดตามพวกเราได้ที่

Facebook  Youtube  Instagram

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.