Oshino Hakkai (忍野八海) หมู่บ้านน้ำใส บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งฟูจิ อีกหนึ่งสปอตท่องเที่ยวที่คนไปฟูจิต้องไม่พลาด เพราะหมูบ้านน้ำใส นี้อยู่ระหว่างทะเลสาบ Yamanakako และ Kawaguchiko ซึ่งแต่เดิมจุดนี้เคยเป็นทะเลสาบมาก่อนแต่เมื่อเวลาผ่านไป น้ำในทะเลสาบก็แห้งเหือดหายไปเหลือบ่อน้ำเพียง 8 บ่อเท่านั้น

 

สำหรับคนขี้เกียจอ่านดูคลิปได้จากที่นี่ค่ะ :

หมู่บ้านน้ำใส หรือ Oshino Hakkai (忍野八海) ตั้งอยู่ที่จังหวัดยามานาชิ ในเขตพื้นที่เดียวกันกับทะเลสาบทั้ง 5 ที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขาไฟฟูจินั่นเองค่ะ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชมภูเขาไฟฟูจิ จึงนิยมเดินทาง มาที่หมู่บ้านน้ำใสแห่งนี้ด้วย ซึ่งพิกัดของนางก็ตั้งอยู่ระหว่างทะเลสาบ Kawaguchiko กับทะเลสาบ Yamanakako ที่นี่มีความสวยงามในระดับที่ว่าได้รับการ ขึ้นทะเบียน ให้เป็นมรดกทางธรรมชาติในปี ค.ศ. 1934 และได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในภูมิทัศน์ ทางน้ำที่งดงามร้อยอันดับในปี ค.ศ. 1985 อีกด้วย

ในวันที่อากาศดี ๆ ท้องฟ้าแจ่มใส เราก็จะมองเห็นภูเขาไฟฟูจิด้วยค่ะ

 

ที่นี่เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เล่าขานกันมาว่าแต่เดิมเป็นพื้นที่ของทะเลสาบรอบภูเขาไฟฟูจิ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปทำให้ทะเลสาบเหล่านั้นมีการเหือดแห้งไปตามธรรมชาติเมื่อเวลากว่าหลายร้อยปีที่ผ่านมา และสิ่งที่เหลืออยู่ก็คือบ่อน้ำทั้ง 8 บ่อที่บรรจุน้ำที่ใสสมชื่อหมู่บ้านเอาไว้เต็มเปี่ยม ซึ่งน้ำใสในบ่อทั้ง 8 นี้คือน้ำที่เกิดจากการละลายของหิมะบนภูเขาไฟในช่วงฤดูร้อน ไหลผ่านหินลาวาที่มีรูพรุนรวมกับแร่ธาตุต่าง ๆ ทำให้น้ำนั้นใสแจ๋วอย่างที่เราเห็นนี่ล่ะค่ะ

บางทีก็มีปลาในบ่อกระโดดโชว์ด้วยนะ

 

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่น้ำใสมากจริง ๆ

จุดเด่นที่ทำให้เป็นที่น่าสนใจในการไปเยือนก็คือความใสสะอาดของบ่อน้ำ ที่ใสม๊าก มาก มาก กอ.ไก่ล้านตัว และคนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าหากใครได้ดื่มน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้จะมีอายุยืนยาว ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ว่าจะเจ็บป่วยตรงไหน ขอให้อธิษฐานก่อนดื่มน้ำแล้วความเจ็บป่วยก็จะทุเลาลงหรือหายเลยก็มี (เค้าว่างั้น)

บางคนก็รินน้ำจากหัวมังกรที่อยู่ตรงกลางบ่อที่ลึกที่สุด หรือบางคนจะรองน้ำจากบริเวณใกล้กับร้านค้าก็ได้ค่ะ
ควรรองน้ำจากหัวมังกร แล้วเทใส่มือเพื่อดื่ม น้ำที่เหลือเทลงพื้นข้าง ๆ อย่าเทใส่บ่อนะคะ เพื่อสุขอนามัยที่ดีไม่ควรดื่มจากที่ตักน้ำนะคะ

และถ้าใครอยากจะนำน้ำกลับไปฝากคนที่บ้านก็อย่าลืมเตรียมขวด เตรียมแก้วไปรองน้ำกันได้ค่ะ แต่ถ้าใครไม่มีก็มีร้านขายขวดพลาสติกไว้คอยอำนวยความสะดวกให้จ้า

มีป้ายภาษาไทยเขียนบอกไว้ด้วย ดีงามมากมายค่ะ สำหรับคนที่ไม่ได้เตรียมขวดมาซื้อได้จากร้านค้าตรงนี้ค่ะ

 

ขวดน้ำพลาดสติกวางอยู่ใกล้ ๆ กับจุดรองน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์

 

เนื่องจากหมู่บ้านน้ำใสแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างทะเลสาบ Kawaguchiko และ Yamanakako จึงทำให้ที่นี่เป็นจุดชมวิวภูเขาไฟฟูจิที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง ในวันที่ท้องฟ้าโปร่งใสจะมองไปเห็นวิวฟูจิซังท่ามกลางบรรยากาศหมู่บ้านที่เป็นเรือนไม้ สอดแทรกไปด้วยธรรมชาติอันร่มรื่น ตัดกับภาพท้องฟ้าที่สดใส ได้เป็นภาพบรรยากาศที่งดงามน่าประทับใจ หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายจุดใดก็สวยสุด ๆ

ใสจนมองเห็นปลา เห็นต้นไม้ใต้น้ำ

 

วันที่แดดดีก็จะมีนางเอกของภาพมาร่วมเฟรมด้วยล่ะค่ะ

 

บ่อน้ำทั้ง 8 จะตั้งอยู่รอบ ๆ บริเวณหมู่บ้าน เป็นบ่อน้ำขนาดแตกต่างก้ันทั้งความลึกและความกว้าง เราสามารถเดินเล่นชมบ่อน้ำได้อย่างเพลิดเพลินไม่มีเบื่อ ดื่มด่ำไปกับความสวยงามและความใสระดับที่เรียกได้ว่ามองลงไปแล้วเห็นถึงก้นสระ เห็นปลาที่กำลังเวียนว่าย และเหล่าต้นไม้ใต้น้ำ รวมกันเป็นภาพที่สวยงามมาก ๆ เลยค่ะ

บ่อนี้ก็ใส

 

ถ่ายไกล ๆ ก็ยังมองเห็นใต้น้ำเลย

 

 

ใครอยากลองดูว่าน้ำเย็นขนาดไหน ลองนำมือไปจุ่มได้ที่บริเวณด้านล่างตามในภาพนี้ค่ะ ไม่แนะนำให้โยนเหรียญลงไปในบ่อนะคะ จะมีป้ายเขียนเอาไว้ว่าห้าม!

ส่วนในภาพเป็นบ่อที่ลึกที่สุด มีความลึก 8  เมตร แต่ก็ยังมองเห็นสิ่งที่อยู่ใต้น้ำได้อย่างชัดเจน น้ำใสสมชื่อจริง ๆ เลยค่ะ

บ่อนี้ลึกที่สุด เป็นวงกลม และเป็นไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวต้องมาเดินชมความใสของน้ำ

 

ใสมาก ๆ ขนาดเห็นด้านล่างของบ่อเลยทีเดียว

 

ปลาก็ตัวใหญ่มากเวอร์

นอกจากความใสกริ๊งของน้ำแล้ว ในหมู่บ้านแห่งนี้ยังมีของกิน ของช้อปปิ้งที่พร้อมให้เพื่อน ๆ ได้ชิมและช้อปกันระหว่างทางด้วย เพื่อน ๆ สามารถย้อนอ่านโพสท์ของกินที่ไม่ควรพลาดที่ Oshino hakkai ได้จาก ที่นี่ ค่ะ

ทางเดินรอบ ๆ หมู่บ้านน้ำใส

 

การเดินทาง :
นั่งรถไฟหรือรถบัสมาลงที่สถานี Kawaguchiko แล้วนั่งรถไฟต่อไปอีกสถานีเพื่อไปลงที่สถานี Fujisan และจากสถานีนี้เราสามารถนั่งรถบัส Fujikyuko Yamanashi Bus หมายเลข 1 เป็นรถบัสสีเขียว ให้สังเกตว่าเป็นรถบัสที่วิ่งไป Yamanakako – Asahigaoka ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีก็จะถึงป้ายรถบัส Oshino Iriguchi

Route bus :
พิกัดจาก Google map:

ติดตามพวกเราได้ที่

Facebook  Youtube  Instagram

 

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.