หากใครที่เป็นมือใหม่เที่ยวญี่ปุ่นโดยมีปลายทางเป็นโตเกียวแล้วล่ะก็ ยิ่งต้องมารู้จักกับรถไฟสาย Yamanote (JY) รถไฟสายที่วิ่งเป็นวงกลมรอบใจกลางกรุงโตเกียวที่มือใหม่ชื่นชอบเพราะขึ้น – ลงง่าย เดินทางก็ง่าย และยังผ่านแลนด์มาร์กจุดสำคัญหลัก ๆ ของโตเกียวอีกด้วยตอนนี้มีภาษาอังกฤษบอกการเดินทาง พร้อมกำหนดชื่อย่อของแต่ละสถานี ซึ่งแต่ก่อนยังไม่มีเพื่อเป็นการเตรียมรับกับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะมาชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพจัดงานในปี 2020 ค่ะ

ความเก๋ของสาย Yamanote รุ่น E235 อยู่ที่ดอกไม้ท้ายขบวนรถ

รถไฟสาย Yamanote ที่วิ่งกันตอนนี้ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเป็นรถไฟโมเดลใหม่ที่มีชื่อว่า E235 ซึ่งพบได้ง่ายกว่าปีก่อนอยู่มากค่ะ เพราะมีความใหม่ มีความโมเดิร์น และมีกิมมิคเก๋ ๆ อยู่ที่ตู้สุดท้าย บริเวณไฟที่อยู่ท้ายขบวนจะเป็นรูปดอกไม้ต่าง ๆ ซึ่งจะเปลี่ยนไปทุก ๆ เดือน เดือนนี้เป็นรูปใบเมเปิ้ล กับใบแปะก้วยนะคะ ใครเห็นแล้วบ้างเอ่ย

จะมีใครดูออกไหมนะว่าเป็นใบแปะก้วย กับใบเมเปิ้ล

ดอกไม้ประจำแต่ละเดือนมีตามนี้ค่ะ

1月はツバキ、ดอกทสึบะกิ
2月はウメ、ดอกบ๊วย
3月はタンポポ、ทัมโปโปะ
4月はサクラ、ซากุระ
5月はアヤメ、อะยะเมะ
6月はアジサイ、อะจิไซหรือไฮเดรนเยียร์
7月はアサガオ、ดอกอะซะกะโอ (มอนิ่งกลอรี)
8月はヒマワリ、ดอกทานตะวัน (ฮิมาวาริ)
9月はキク、ดอกเบญจมาศ (คิคุ)
10月はススキ、ซุซุกิ
11月はイチョウとカエデ,แปะก๊วยและเมเปิ้ล
12月はシクラメン ชิคุระเมน (ดอกไม้ตระกูลไซคลาเมน)

อื้อฮือ Yamanote line มีมาตั้งแต่ปี 1885 …130 กว่าปีแล้วสินะ

รถไฟสาย Yamanote line เริ่มมีครั้งแรกตั้งแต่ปี 1885 รถไฟที่ใช้เป็นโมเดลรุ่น E231-500 series และ E235 series ระยะทางรวมของสาย Yamanote line ทั้งหมด 34.5 กิโลเมตร รถไฟวิ่งด้วยความเร็ว 90km/h (55mph) และจะวิ่งเป็นวงกลม ซึ่งส่วนใหญ่จะผ่านสถานที่แลนด์มาร์กสำคัญของกรุงโตเกียว

ปัจจุบันมีทั้งหมด 29 สถานี เกือบทุกสถานีจะเชื่อมต่อกับรถไฟสายอื่น ๆ ยกเว้นเพียง 2 สถานีได้แก่ Mejiro และ Otsuka ที่ไม่เชื่อมต่อกับสถานีอื่น ๆ และในอนาคตอันใกล้นี้สาย Yamanote กำลังจะเพิ่มสถานีใหม่อีกหนึ่งสถานี โดยสถานีใหม่ที่ว่านี้ตั้งอยู่ระหว่างสถานี “Shinagawa” และ สถานี “Tamachi” ก็จะรวมเป็น 30 สถานีพอดี และคาดการณ์ว่าน่าเปิดใช้ในปี 2020 เพื่อรับกับการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพ

นอกจากนี้แต่ละสถานียังมีเมโลดี้ประจำสถานีด้วย บางสถานีก็เป็นเมโลดี้พิเศษ เช่น สถานี Ebisu เป็นเพลงประกอบโฆษณาเบียร์ยี่ห้อ Yebisu, สถานี Takadanobaba เพลงการ์ตูน Astro boy (ATOM) ฯลฯ ลองดูจากวิดิโอคลิปด้านล่างนะคะ

 


และนอกจากนี้ภายในขบวนรถไฟยังมีจอภาพที่บอกสถานะการเดินรถ ว่าแต่ละสถานีต้องใช้เวลาเดินทางกี่นาที และสถานีต่อไปคืออะไร และยังระบุเพิ่มอีกว่าตู้รถไฟท่ีเราขึ้นเมื่อถึงสถานีปลายทางแล้ว บันไดเลื่อน, ลิฟท์ และทางออกที่เราจะไปอยู่ทิศทางใด อยู่ใกล้กับตู้รถไฟที่เราขึ้นหรือไม่ สำหรับใครที่ต้องวางแผนในการต่อรถไฟขบวนต่อไปเพื่อไม่พลาดรถไฟเที่ยวต่อไปก็สามารถดูจอภาพนี้เป็นตัวช่วยในการวางแผนเดินทางได้ค่ะ 

 

จริง ๆ แล้วที่ชานชลาของรถไฟสาย Yamanote ก็จะมีป้ายอัจริยะที่คอยแนะนำว่าเราควรขึ้นรถไฟตู้ไหนเพื่อให้ไปลงยังสถานีปลางทางได้อย่างสะดวกที่สุด ในกรณีที่มีสัมภาระ รถเข็นเด็ก ฯลฯ เราก็จะมองหาบันไดเลื่อนหรือไม่ก็ลิฟท์เป็นหลัก ดังนั้นถ้าวางแผนในการขึ้นรถไฟตั้งแต่แรกก็จะสะดวกในการเดินทางมากขึ้นค่ะ 

วิธีการอ่านป้ายอัจฉริยะ

แถบสีเขียวบอกสถานะว่าเรายืนอยู่ตรงไหน จะตรงกับตู้รถไฟที่เท่าไหร่เมื่อรถไฟมาจอด สำหรับรถไฟสาย Yamanote มีทั้งหมด 11 ตู้ ในหนึ่งตู้จะมี 4 ประตู  จากป้ายบอกว่าเรายืนอยู่ที่ตู้หมายเลข 7 ที่สถานี Ikebukuro

– ช่องสีฟ้า= มีลิฟท์ & บันไดเลื่อน

– ช่องสีชมพู= มีบันไดเลื่อน

– ป้ายสีเหลืองบอกทิศทางของทางออกในแต่ละสถานี และจุดเชื่อมต่อรถไฟสายอื่น ๆ

วิธีการก็คือหลังจากเรารู้แล้วว่าเรายืนอยู่ตรงจุดไหน เราก็มาดูที่สถานีปลายทางต่อว่าเราจะไปลงที่สถานีอะไร และต้องออกทางออกไหน ตัวอย่างเช่น ต้องการเดินทางไปสถานีสถานี Shinjuku และต้องการไปออกที่ทางออก Central west (中央西口) เพื่อไปต่อรถไฟสาย Odakyu line และอยากจะออกจากขบวนรถไฟสาย Yamanote แล้วเจอกับบันไดเลื่อนด้วยเพราะมีสัมภาระ และที่สำคัญก็ไม่อยากพลาดรถไฟที่กำลังจะไปต่อ จากนั้นเราก็มาดูที่ช่องด้านซ้ายมือจะเห็นชื่อสถานีปลายทาง Shinjuku เราเดินทางจาก Ikebukuro ใช้เวลา 9 นาที แล้วเราก็ไล่ดูทางออกกับรถไฟที่เราจะไปต่อจากป้ายอัจฉริยะ (ภาพด้านบน) แล้วก็ดูว่าขึ้นตู้ไหนสะดวกที่สุด

ทั้งนี้จากป้ายตู้ 7, 8, 9 เราก็สามารถขึ้นได้หมดค่ะ แต่ถ้าใกล้บันไดเลื่อนก็จะเป็นตู้ 8 ค่ะ หลังจากนั้นเราก็เดินไปรอขึ้นรถไฟยังบริเวณตู้ที่เราต้องการ ซึ่งดูได้จากตัวเลขที่ติดเอาไว้ยังประตู้กั้นที่ชานชลาจากภาพด้านล่างนี้จะบอกว่าเป็นจุดรอขึ้นรถไฟตู้ที่ 10 ประตูที่ 2 ค่ะ

ป้ายอัจฉริยะตอนนี้จะเป็นภาษาญี่ปุ่นอาจจะไม่ค่อยสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวสักเท่าไร แต่ดูภาพประกอบได้ค่ะ ถ้ามีผู้สูงอายุ เด็กเล็กที่มีรถเข็นเขาก็จะดูลิฟท์และบันไดเลื่อนเป็นหลัก โดยรวมป้ายนี้สะดวกดีค่ะ สำหรับนักวางแผนก่อนการเดินทาง

 

ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวมือใหม่จะงงกับการใช้คำศัพท์ Inner Loop/ Outer Loop เจ้ก็งงเช่นกันค่ะไม่เคยสนใจกับ Inner Loop หรือ Outer Loop เลยสักครั้ง 5555 เคยถามเพื่อนคนญี่ปุ่นเหมือนกันค่ะว่าเค้ามีทริคอย่างไรในการขึ้นรถไฟสาย Yamanote เพื่อนคนญี่ปุ่นบอกว่าเค้าไม่ได้ดูว่า Inner Loop/ Outer Loop แต่ส่วนใหญ่จะดูจากปลายทางที่เราจะไปแล้วขึ้นให้ถูกต้องก็ไม่งงแล้วค่ะ


ความรู้เพิ่มเติม

Inner loop (内回り; uchi mawari) รถจะวิ่งวนซ้าย ทวนเข็มนาฬิกา เสียงประกาศที่ชานชลาเป็นผู้หญิง ที่กั้นตรงชานชลาระหว่างรอขึ้นรถไฟจะเป็นเส้นหนาสีเขียวเพียงเส้นเดียว

Outer loop (外回り; soto mawari) รถจะวิ่งวนขวา ตามเข็มนาฬิกา เสียงประกาศที่ชานชลาเป็นผู้ชาย ที่กั้นตรงชานชลาระหว่างรอขึ้นรถไฟจะเป็นเส้นบางสีเขียว 2 เส้น

ติดตามพวกเราได้ที่

Facebook  Youtube  Instagram

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.