ต้องรู้ก่อนเดินทาง ยาอะไรนำเข้าญี่ปุ่นได้ – ข้อมูลตรงจากแพทย์

สิ่งสำคัญที่ควรรู้ไว้ก่อนเดินทางคือ “การเตรียมยาสามัญ” และ “ยารักษาโรคประจำตัว” โดยเฉพาะเรื่องการนำยามาประเทศญี่ปุ่น หลายคนคงมีความกังวลหากเกิดอาการไม่สบาย ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างเดินทางมาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเกิดจากสภาพอากาศ อาหารการกินที่ต่างจากบ้านเรา หรืออาจจะกังวลกับโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ ว่าจะต้องนำยาเหล่านั้น เข้าประเทศญี่ปุ่น จะสามารถนำมาได้หรือไม่ วันนี้ ลุงจี๊ด อาจารย์แพทย์ จะมาช่วยไขคำตอบ และจะช่วยแนะนำวิธี พร้อมยกตัวอย่างยาที่สามารถนำติดตัวมาได้ และ ห้ามนำเข้าครับ

โดยขอแบ่งประเภทยาเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

ยากลุ่มที่ 1

ยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์เพื่อรักษาโรคประจำตัว เอาเข้าได้ไม่เกิน 1 เดือน แต่ถ้ายานั้นมีส่วนผสมของยาเสพติดต้องขอใบอนุญาต ไม่ว่าจะเอาเข้ามามากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเป็นยานอนหลับ ยากันชักบางชนิดดูในลิสต์รายชื่อยาตามภาพที่ลงไว้ สามารถนำเข้าได้ในปริมาณที่จำกัด ถ้านำมาเกินจากที่ระบุ ต้องขออนุญาต

 

ยากลุ่ม 2

ยาที่ซื้อได้ตามร้านยาเพื่อรักษาอาการเล็กน้อย ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ ไม่ใช่ยารักษาโรคที่ต้องกินทุกวัน อันนี้ไม่เกิน 2 เดือน ถ้าเกิน 2 เดือนต้องขอ

โดยยาทั้ง 2 กลุ่มดูรายละเอียดได้จากด้านล่างนี้ครับ

ยากลุ่มที่ 1

เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่อง หมายถึงยาที่ได้รับจากแพทย์ เพื่อรักษาโรคประจำตัว และต้องรับประทานทุกวัน ยาประเภทนี้ สามารถนำเข้ามาประเทศญี่ปุ่นได้ “ไม่เกิน 1 เดือน” และทางญี่ปุ่นระบุว่า ควรมี “จดหมาย หรือใบรับรองแพทย์” แสดงรายการยาทั้งหมดจากแพทย์ผู้รักษาแสดงถึง ชื่อสามัญทางยาขนาดยา วิธีรับประทาน รวมทั้งยาต้องถูกบรรจุในซองที่มีการระบุชื่อยา วิธีรับประทานอย่างชัดเจน อย่าแกะฉลากยาทิ้งนะครับ

💉 ส่วนยาฉีดก็นำเข้าได้ครับ เช่น อินซูลินสำหรับคนไข้เบาหวาน ก็สามารถนำเข้าได้เป็นแบบหลอดฉีดยาสำเร็จรูป (Prefilled syringe)

⚠️ ทั้งนี้รายการยาจะต้องไม่ใช่ยาเสพติด หรือ ยาที่ผลิตจากฝิ่น หรือ มีสารในกลุ่มที่เข้าข่ายยาเสพติด ซึ่งจริงๆ แล้วยาเหล่านี้มีการสั่งจ่ายจากแพทย์เพื่อรักษาโรคโดยเฉพาะ เช่น
🔸 มอร์ฟีนชนิดเม็ดรักษาอาการปวด ยาแก้ปวด Tramadol
🔸 ยาแก้ปวดแบบแผ่นแปะเฟนตานีล (Fentanyl patch)
🔸 ยาแก้ปวดและยาแก้ไอที่มี codeine (Tylenol with codeine, Ropect, Codepect, Codipront, Codesia, Robitussin-AC)
🔸 ยาแก้ไอ dextromethophan (A-tussin, Icolid, Dextroral, ยาอม Strepsil dry cough, Romilar, Troatsil Dex, Pusiran)
🔸 ยารักษาอาการแก้คัดจมูกที่มีส่วนผสมของ pseudoephredine (ชื่อการค้า Actifed, Maxiphed, Sulidine, Nasolin, Nasifed, Sudafed)
🔸 ยาสำหรับรักษาเด็กสมาธิสั้น (amphetamine, dexmethylphenidate, lisdexamfetamine)
🔸 ยาระงับการถ่ายที่มีส่วนผสมของสารประกอบจากฝิ่น เช่น lomotil
🔸 หรือแม้แต่ยาที่มีส่วนผสมของกัญชาที่เริ่มมีการสั่งจ่ายในโรงพยาบาลด้วยครับ แม้แต่น้ำมันกัญชาถ้าจำเป็นต้องนำยาเหล่านี้เข้ามา ต้องทำเรื่องติดต่อกับทางการญี่ปุ่นเพื่อขอใบรับรอง “Yakkan Shomei” ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ก่อนการเดินทาง

😴 สำหรับกลุ่มยานอนหลับ (Psychotropic drugs) และยารักษาโรคลมชักบางชนิด สามารถนำเข้าได้โดยไม่ต้องขอใบรับรอง Yakkan Shomei แต่ถูกจำกัดจำนวน (รายชื่อยากลุ่มนี้จะอยู่ใน link ด้านล่างครับ) เช่น diazepam, alprazolam, midazolam, clonazepam, lorazepam ถูกจำกัดการนำเข้าทั้งหมดไม่เกิน 1200 มิลลิกรัม 72 มิลลิกรัม 450 มิลลิกรัม 180 มิลลิกรัม 90 มิลลิกรัม ตามลำดับ แต่ถ้าต้องการนำยานอนหลับมากกว่าปริมาณที่ระบุต้องขอใบรับรอง “Yakkan Shomei” ก่อนครับ

😴 หรือถ้าใครที่เป็นโรคนอนกรนและต้องใช้เรื่อง CPAP ขณะนอนหลับก็ต้องขอใบรับรอง Yakkan Shomei ด้วยครับส่วนยารักษาอาการซึมเศร้า หรือ ยารักษาอารมณ์สองขั้ว ที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อยานอนหลับข้างต้น และกลุ่มยานอกเหนือจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นยารักษาไขมันในเลือด เบาหวาน ความดันโลหิต ยารักษาการติดเชื้อเอชไอวี ยารักษาพาร์คินสัน ฯลฯ ถ้านำเข้ามาไม่เกิน 1 เดือนไม่จำเป็นต้องขอใบรับรอง Yakkan Shomei นี้ครับ

💨 ยาพ่นสำหรับรักษาอาการหอบหืดสามารถนำเข้าได้สำหรับใช้ 1 เดือนหรือไม่เกิน 1 ชิ้นต่อชนิดยาโดยไม่ต้องขออนุญาตใดๆ ครับ

ยากลุ่มที่ 2

เป็นยาสามัญสำหรับรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยและไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ขณะซื้อที่ร้านยา หมายถึง ยาที่เราพกมาเผื่อเอาไว้สำหรับรักษาอาการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้ และต้องไม่ใช่ยาที่รักษาโรคประจำตัวเช่น
🔹 ยาแก้ไข้ paracetamol หรือ acetaminophen (Tylenol, Sara)
🔹 ยาแก้แพ้อากาศที่ไม่มีส่วนผสมของ pseudoephredine (Zyrtec, Telfast, Clarityn, Sulidine-CP, Nasolin P.L)
🔹 ยาแก้ปวด (ibuprofen, ponstan, celecoxib, naproxen etc.)
🔹 ยาละลายเสมหะ (Fluimucil, Bisolvon)

**ในปัจจุบันไม่มีรูปแบบยาของ sulidine และ nasolin ที่มีpseudoephedrine ขายในท้องตลาดครับ

⚠️ ยานี้สามารถนำเข้ามาได้ไม่เกิน 2 เดือน ควรมีการติดฉลากยา ชื่อยาและวิธีรับประทานติดไว้ด้วยครับ และต้องไม่ใช่กลุ่มยาพิเศษที่ระบุในข้อ 1 นะครับ แต่ถ้าจะต้องนำเข้ามาเกิน 2 เดือนก็ต้องขอใบ Yakkan Shomei ครับ

 สรุปภาพรวม

ขอย้ำอีกครั้งว่า ยาต้องบรรจุในซองติดฉลากชื่อยาให้เรียบร้อย ถ้าเป็นยารักษาโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานทุกวัน สามารถนำเข้าได้เพียงพอสำหรับใช้เพียง 1 เดือน และควรมีเอกสารรับรองรายการยา หรือใบรับรองแพทย์ระบุว่ายาเหล่านี้ จำเป็นต่อการรักษาโรค แต่ถ้าเป็นรายการยาที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีน codeine dextromethorphan pseudoephredine ยาผลิตจากฝิ่น กัญชาจะต้องขอติดต่อขอใบ Yakkin Shomei ก่อนครับ

⚠️ ยาคุมกำเนิด ส่วนใหญ่ยาคุมที่กินเพื่อไม่ให้มีลูก ซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไปถือเป็น ยากลุ่ม 2 นำเข้าได้ 2 แผงแต่ต้องมีฉลากยาขัดเจน **** แต่ถ้าใช้ยาคุมเพื่อรักษาโรคอื่นๆ จะสั่งโดยแพทย์ซึ่งถือเป็น ยากลุ่ม 1 ถ้าได้ยาจากแพทย์ก็นำเข้าได้ในปริมาณ 1 แผง (1เดือน)

⚠️ ยาทิฟฟี่แผงสีเขียว, ยาทัมใจ, ยาแก้ปวด Arcoxia, ยาดมที่หาซื้อได้ตาม 7-11 หรือร้านขายยา นำเข้าได้ในปริมาณไม่เกิน 2 เดือน

⚠️ เวย์โปรตีน, อาหารเสริม นำเข้าได้ในปริมาณบริโภคไม่เกิน 2 เดือน มีฉลากบอกอย่างละเอียดและส่วนผสมต้องไม่ใช่สิ่งต้องห้าม จัดอยู่ในยากลุ่ม 2

⚠️ ส่วนยานอนหลับสามารถนำเข้ามาได้ในปริมาณจำกัด ส่วนยาที่พกมาสำหรับรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย สามารถนำเข้าได้ สำหรับใช้ไม่เกิน 2 เดือนครับ

⚠️ อาจมีหลายคนแอบเอายาที่จำเป็นต้องขออนุญาตล่วงหน้าเข้ามาโดยไม่ได้ทำการขออนุญาตให้ถูกต้อง ซึ่งอาจจะไม่ถูกเจ้าหน้าที่ริบ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นตรวจพบอาจส่งผลเสียต่อการรักษาโรคประจำตัว และอาจจะมีโทษหากมีส่วนผสมต้องห้ามได้นะครับ ทางที่ดีควรทำให้ถูกต้องดีที่สุดครับ

เรื่องโดย: #ลุงจี๊ด (อาจารย์ นายแพทย์ ประวัฒน์ จันทฤทธิ์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล) ปัจจุบันท่านกำลังทำงานด้านการวิจัยโรคติดเชื้อในประเทศญี่ปุ่น ณ. กรุงโตเกียว

🙏 ขอขอบคุณแหล่งที่มาประกอบบทความ
.
📄 ข้อมูลสำหรับการนำยาเข้าประเทศญีปุ่นและการขอใบรับรอง Yakkan Shomei; Ministry of Healthy, Labour and Welfare, Japan https://www.mhlw.go.jp/…/health-med…/pharmaceuticals/01.html
.
📄 US Embassy & Consulate in Japan
https://jp.usembassy.gov/u-s-citize…/…/importing-medication/
.
📄 Narcotics Control Department ระบุกฎเกณฑ์การนำยาที่มีส่วนผสมของยาเสพติดสำหรับรักษาโรค และยานอนหลับ หรือยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเข้าประเทศญี่ปุ่น (Psychotropics) http://www.ncd.mhlw.go.jp/en/application.html

 

ติดตามพวกเราได้ที่

Facebook Youtube Instagram Twitter

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.